แนวปฏิบัติโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข (๓-๕-๗-๙ สู่ความยั่งยืน)

16 พฤศจิกายน 2563
  •    8,996

แนวปฏิบัติโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข (๓-๕-๗-๙ สู่ความยั่งยืน)

 

             ตามที่ได้กล่าววัตถุประสงค์ของโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข  คือเพื่อพัฒนารูปแบบและนำแนวคิดของ ๕ส ลงสู่บริบทของวัดและชุมชน เพื่อส่งเสริมให้วัดเป็นพื้นที่ต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่ทางกายภาพ พื้นที่การเรียนรู้ พื้นที่ทางจิตใจและปัญญา และเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในสังคมไทย ตื่นตัวเรื่องการช่วยเหลือสังคม การมีจิตอาสา ความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อทำให้เกิดสังคมสุขภาวะและความยั่งยืน โดยมีเป้าหมายสำคัญ “วัดสวยด้วยความสุข” และ “การสร้างวัดในใจคน” ดังนั้น แนวปฏิบัติของโครงการ วัด ประชา รัฐ สร้างสุข จึงกำหนดแนวปฏิบัติแบบง่าย คือ

             ๓ พันธกิจ สู่ วัดสวยด้วยความสุข ได้แก่ ๑) การพัฒนาพื้นที่ทางกายภาพของวัดและชุมชนให้สะอาด ร่มรื่น สวยงาม เป็นสถานที่สัปปายะ ๒) การพัฒนาพื้นที่ทางสังคมและการเรียนรู้ของวัดและชุมชนด้วยวิถีวัฒนธรรมเชิงพุทธ ๓) การพัฒนาพื้นที่จิตใจและปัญญาของวัดและชุมชนตามแนวพระพุทธศาสนา   

             ๕ เครื่องมือการทำงาน (5ส) เครื่องมือการดำเนินงานเพื่อสร้างสัปปายะสู่วัด คือ สะสาง, สะดวก, สะอาด, สร้างมาตรฐาน และสร้างวินัย 

             ๗ แนวทางการดำเนินการเพื่อสร้างสัปปายะ ได้แก่ การดำเนินงานสร้างสัปปายะสู่วัดสวยด้วยความสุข คือ ๑) การแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการฯ ๒) การประกาศนโยบาย ๓) การอบรมให้ความรู้  ๔) การสำรวจพื้นที่ จัดทำแผนผังวัด และวิเคราะห์พื้นที่เพื่อการพัฒนา  ๕) จัดทำแผนปรับปรุง ๖) ลงมือปฏิบัติ (Big Cleaning Day) และ ๗) สรุปผลการดำเนินงาน

             ๙ แนวปฏิบัติการพัฒนาพื้นที่ ได้แก่ แนวปฏิบัติในการพัฒนาพื้นที่ภายในวัด ๙ พื้นที่ คือ ๑) ป้ายชื่อวัด บริเวณหน้าวัด และแผนผังวัดโดยสังเขป ๒) การจัดการจราจร ป้ายจราจร และที่จอดรถ ๓) การจัดระบบคลังวัสดุสงฆ์ และการควบคุมการเบิก-จ่ายสิ่งของ ๔) ห้องน้ำ ๕) การจัดการขยะ ๖) สภาพแวดล้อมทั่วไป ได้แก่ ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ปลอดภัยของพื้นที่เปิดโล่งต่างๆ การจัดการพื้นที่สีเขียวภายในวัด เป็นต้น  ๗) ระบบไฟฟ้าและการป้องกันอัคคีภัย ๘) โรงครัว และ ๙) การสุขาภิบาลอาคารเสนาสนะต่างๆ ภายในวัด

 


  •    8,996