New Normal คณะสงฆ์ จ.พระนครศรีอยุธยา จัดประชุมออนไลน์ ขับเคลื่อนโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข มุ่งสร้างสัปปายะสู่วัดด้วยวิถี ๕ส

22 มิถุนายน 2563
  •    789
New Normal คณะสงฆ์ จ.พระนครศรีอยุธยา จัดประชุมออนไลน์ ขับเคลื่อนโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข มุ่งสร้างสัปปายะสู่วัดด้วยวิถี ๕ส
*******************
วันจันทร์ที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓ เวลา ๑๔.๐๐ น. พระเดชพระคุณพระธรรมรัตนาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เจ้าอาวาสวัดเขียนเขต (พระอารามหลวง) ประธานอนุกรรมการโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ฝ่ายสาธารณูปการ ของมหาเถรสมาคม
เป็นวิทยากรบรรยาย หัวข้อ การขับเคลื่อนโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ด้วยกิจกรรม ๕ส ในการประชุมพระสังฆาธิการ ระดับเจ้าอาวาส ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส และผู้ช่วยเจ้าอาวาส ของคณะสงฆ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ตามมติมหาเถรสมาคม ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีศูนย์กลางการประชุมฯ ณ วัดพนัญเชิงวรวิหาร อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ในการประชุมฯ มีพระเดชพระคุณพระเทพวิสุทธิโสภณ เจ้าคณะภาค ๒ เจ้าอาวาสวัดราชคฤห์วรวิหาร เป็นประธานฯ พร้อมด้วย พระเดชพระคุณพระธรรมรัตนมงคล เจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เจ้าอาวาสวัดพนัญเชิงวรวิหาร และมีพระมหาเวชยันต์ เวชยนฺโต เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำหน้าที่เลขานุการฯ
โดยพระเดชพระคุณพระธรรมรัตนาภรณ์ ได้บรรยายเกี่ยวกับ ๓๕๗๙ คือ ๓ พันธกิจ, ๕ส เครื่องมือ, ๗ แนวทางการดำเนินงาน, ๙ แนวปฏิบัติการพัฒนาพื้นที่ และ ๑ ความปกติใหม่, ฐานวิถีชีวิตใหม่ ซึ่งมีรายละเอียดการบรรยายโดยสรุป ดังนี้
- ๓ พันธกิจ คือ ๑. การพัฒนาพื้นที่ทางกายภาพของวัดและชุมชนให้สะอาด ร่มรื่น สวยงาม เป็นสถานที่สัปปายะ, ๒.การพัฒนาพื้นที่ทางสังคมและการเรียนรู้ของวัดและชุมชนด้วยวิถีวัฒนธรรมเชิงพุทธ และ ๓. การพัฒนาพื้นที่จิตใจและปัญญาของวัดและชุมชนตามแนวพระพุทธศาสนา
- ๕ส เครื่องมือในการดำเนินงานเพื่อสร้างสัปปายะสู่วัด คือ สะสาง, สะดวก, สะอาด, สร้างมาตรฐาน และสร้างวินัย
- ๗ แนวทางการดำเนินงานสร้างสัปปายะสู่วัดด้วยวิถี ๕ส คือ ๑. กำหนดคณะกรรมการ, ๒. ประกาศนโยบาย, ๓. อบรมให้ความรู้, ๔. สำรวจพื้นที่ จัดทำแผนผังวัด และวิเคราะห์พื้นที่เพื่อการพัฒนา, ๕. จัดทำแผนปรับปรุง, ๖. ลงมือปฏิบัติ และ ๗. สรุปผลการดำเนินงาน
- ๙ แนวปฏิบัติในการพัฒนาพื้นที่ ๕ส ในวัด คือ ๑. ป้ายชื่อวัด บริเวณหน้าวัด และแผนผังวัดโดยสังเขป, ๒. การจัดการจราจร ป้ายจราจร และที่จอดรถ, ๓. การจัดระบบคลังวัสดุสงฆ์ และการควบคุมการเบิก-จ่ายสิ่งของ, ๔. ห้องน้ำ, ๕. การจัดการขยะ, ๖. สภาพแวดล้อมทั่วไป (ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ปลอดภัย ของพื้นที่เปิดโล่งต่างๆ ภายในวัด), ๗. ระบบไฟฟ้า และการป้องกันอัคคีภัย, ๘. โรงครัว และ ๙. อาคารเสนาสนะต่างๆ ภายในวัด
- ๑ ความปกติใหม่, ฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) หมายถึงรูปแบบการดำเนินชีวิตอย่างใหม่ที่แตกต่างจากอดีต อันเนื่องจากมีบางสิ่งมากระทบ จนแบบแผน และแนวทางปฏิบัติที่คนในสังคมคุ้นเคยอย่างเป็นปกติ และเคยคาดหมายล่วงหน้าได้ต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีใหม่ภายใต้หลักมาตรฐานใหม่ที่ไม่คุ้นเคย โดยอาศัยหลักพุทธธรรม รวมถึงหลักการ ๕ส มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตตามวิถีชีวิตใหม่ของวัด และชุมชน.
 

  •    789

ยอดนิยม

ล่าสุด