๕ส เครื่องมือ โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข

29 ตุลาคม 2563
  •    7,596
 

เครื่องมือการทำงาน (๕ส) กับการพัฒนาวัด และชุมชน

 

 

ในประเทศไทยได้เริ่มนำหลัก ๕ส ใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๗ หลัก ๕ส นั้นเป็นวิธีการสอนของชาวญี่ปุ่น ซึ่งแฝงด้วยพุทธศาสตร์ เป็นการพัฒนาจิตใจมนุษย์อย่างแยบยล ได้ฝังเป็นวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่เด็กเล็กๆ จะต้องถูกอบรมให้มี ๕ส ในจิตใจ ในกระแสเลือด หรือ เรียกว่า “ฝังอยู่ใน DNA”  ตามหลักฐานที่อ้างอิงได้ คือ เนื้อหาใน VDO ที่ได้จัดทำขึ้นโดย JPC (Japan Productivity Center) ศูนย์เพิ่มผลผลิตของประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นสถาบัน และ APO (Asian Productivity Organization) องค์กรเพิ่มผลิตภาพของอาเซียน ซึ่งมีสมาชิกเป็นหน่วยงานเพิ่มผลิตภาพของแต่ละประเทศในอาเซียน) อธิบายความหมายของ ๕ส ไว้ดังนี้

 

 

หลัก ๕ส ที่ใช้อยู่ในภาคเอกชน สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับวัดให้เป็นรูปธรรมจับต้องได้ การนำ ๕ส มาใช้กับวัดเพื่อให้วัดเป็นที่สัปปายะ ก็ต้องมีกระบวนการ วิธีการเช่นเดียวกัน แต่อาจจะมีความแตกต่างกันบ้าง เพราะเนื่องจากเป้าหมาย ภาระหน้าที่แตกต่างกันระหว่างวัดกับภาคเอกชน โดยมีแนวทางดังนี้

 

ส๑ สะสาง  หมายถึง การเสียสละ จาคะ ลดของใช้ส่วนตัวของพระภิกษุสงฆ์ และสิ่งของภายในวัดนำไปบริจาคหรือแบ่งปันให้กับวัด โรงเรียน ชุมชน หรือบุคคลที่มีความต้องการ เพื่อลดสิ่งของภายในวัดให้น้อยลง รวมทั้งการจัดพื้นที่ของวัด เช่น ศาลาการเปรียญ อุโบสถ วิหาร ให้มีความเรียบง่าย สะดวกต่อการบำรุงรักษาให้อยู่ให้สภาพดี  

 

ส๒ สะดวก หมายถึง การมีสติในการจัดการ สติ นับว่าเป็นกุญแจที่สำคัญที่จะทำให้การกระทำไม่เกิดความสูญเปล่า ในที่นี้คือสามารถรู้ตัวตลอด รู้ว่าได้วางสิ่งของตรงไหนอย่างไร  ถ้าจะสามารถรู้ได้ตลอดเวลาก็ต้องมีระบบในการจัดเก็บ ให้สามารถสังเกตได้โดยง่าย จำได้ง่าย เห็นได้ง่าย รู้เข้าใจได้ในทันที รวมทั้งการมีสติในการเรียนรู้และการดำเนินชีวิต

 

ส๓ สะอาด  หมายถึง การดูแลรักษาวัดและชุมชนให้มีความสะอาด สวยงาม รวมไปถึงสำรวจว่า การดำเนินชีวิตประจำวันว่า มีอะไรผิดปกติหรือไม่ โดยการทำความสะอาด ไม่สะสม ทำกิจให้เสร็จ ไม่เป็นภาระของคนอื่น หรือที่เรียกว่า สะอาดทั้งภายในและภายนอก

 

ส๔ สร้างมาตรฐาน หมายถึง การเคารพความถูกต้องของหมู่คณะหรือความยุติธรรมทางสังคม ในที่นี้คือ การกำหนดสิ่งพึงปฏิบัติของวัดโดยส่วนรวม เป็นการวางระเบียบกฎเกณฑ์ เพื่อให้ทุกคนสามารถปฏิบัติได้เหมือนๆ กัน  เข้าใจตรงกัน ซึ่งอาจจะเป็นกฎระเบียบในการจัดวางสิ่งของ การเก็บ การค้นหา การใช้ รวมทั้งการทำกิจกวัตร ๑๐ ของพระสงฆ์ให้สมบูรณ์ ถ้าเห็นว่ามีอะไรที่ดีกว่า ก็ต้องแก้ไขมาตรฐานให้เหมาะสม มาตรฐานต้องปรับให้ทันสมัย เหมาะสมกับกาลเวลาและงาน

 

ส๕  สร้างวินัย หมายถึง การรักษาพระธรรมวินัย โดยการรักษาและประพฤติปฏิบัติตนเองตามพระธรรมวินัย หรือระเบียบที่คณะสงฆ์กำหนดไว้ เคารพ นับถือสิ่งที่เป็นประโยชน์ตามหลักพระพุทธศาสนา และนำหลักการนั้นไปส่งเสริมให้สังคมเกิดความสงบสุข มีศีล มีธรรม มีความปรองดองสมานฉันท์

 

 

การประยุกต์หลักสัปปายะ ๗ และหลัก ๕ส โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข

 

ในการพัฒนาพื้นที่ทางกายภาพของวัดนั้น มีแนวคิดในการพัฒนาหลายประการ เช่น หลักพุทธธรรม หลักสัปปายะ และหลัก ๕ส ซึ่งทั้งหมดเป็นแนวคิดที่มุ่งเน้นการสร้างพื้นที่สัปปายะและการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับบุคคลอันจะนำไปสู่การเรียนรู้วิถีพุทธและการปฏิบัติธรรม ดังนั้น ในที่นี้จะกล่าวถึงการประยุกต์หลักการเพื่อสร้างพื้นที่วัดให้มีสุขภาวะที่ดี ดังนี้

 

๑. หลักสัปปายะ ๗ กับการพัฒนาวัดและชุมชน ในทางพระพุทธศาสนา เมื่อนำหลักของ ๕ส ที่ภาคเอกชนมาใช้นั้นจะตรงกับคำว่า  “สัปปายะ”  ในความหมายที่ระบุไว้ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) “สัปปายะ” หมายถึง  สิ่งที่สบายหรือสภาพที่เอื้อที่เกื้อกูลต่อการอยู่ดี และการที่จะพัฒนาชีวิตที่ เกื้อหนุนต่อการเจริญภาวนา มีด้วยกัน ๗ ประการ

 

๑) อาวาสสัปปายะ ที่อยู่อันเหมาะสมปลอดภัย หมายถึง การพัฒนาวัดหรือปรับปรุงวัดให้มีความสะอาด ร่มรื่น ปลอดภัย มีสภาพแวดล้อมที่ดี ถูกสุขลักษณะ มีระเบียบการปฏิบัติที่เอื้อต่อการเรียนรู้

 

๒) โคจรสัปปายะ  สถานที่เดินทางสะดวกมีที่เดินบิณฑบาตที่เหมาะดี หมายถึง การจัดการเพื่อให้เกิดการเดินทางที่ปลอดภัย สะดวก เป็นเส้นทางแห่งการเรียนรู้ มีแหล่งที่อำนวยความสะดวกต่อการบริโภค รวมถึงการจัดสถานที่ภายในวัดให้มีความสะดวกต่อการเดินทางและการเรียนรู้

 

๓) ภัสสสัปปายะ การพูดคุยที่เหมาะกัน หมายถึง การสนทนาและการสื่อสารที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างพระสงฆ์กับฆราวาส การให้ธรรมะเป็นธรรมทาน การส่งเสริมการสนทนาธรรมตามกาลเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และการปฏิบัติธรรม

 

๔) ปุคลลสัปปายะ  บุคคลที่ถูกกันเหมาะกัน หมายถึง การส่งเสริมให้มีกัลยาณมิตรหรือบุคคล คอยช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและภายในวัดและชุมชน มีการส่งเสริมคุณธรรม แนะนำพระภิกษุสงฆ์ สามเณร รวมทั้งฆราวาสให้มีศีลธรรมอันดีงาม

 

๕) โภชนสัปปายะ อาหารที่เหมาะกันเกื้อกูลต่อสุขภาพ หมายถึง การจัดการด้านโภชนาการ ภัตตาหาร ที่จะเป็นโยชน์ต่อสุขภาพของพระภิกษุสงฆ์ สามเณรและประชาชน รวมทั้งให้มีการแบ่งปันแก่ผู้ที่ลำบากยากจนให้ได้รับประโยชน์จากอาหารที่ได้รับมา เป็นต้น

 

๖) อุตุสัปปายะ  ดินฟ้าอากาศธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่เหมาะกัน หมายถึง การจัดระบบสภาพแวดล้อมภายในวัดและชุมชนให้มีสภาพที่เอื้อต่อธรรมชาติและการเรียนรู้ ให้มีสวนพุทธธรรมเพื่อประโยชน์ต่อการปฏิบัติภาวนา เป็นต้น

 

๗) อิริยาปถสัปปายะ อิริยาบถที่เหมาะกัน หมายถึง การส่งเสริมการออกกำลังกาย การจัดพื้นที่ภายในวัดและชุมชนเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้เกิดกิจกรรมทางสังคม ส่งเสริมให้มีการพัฒนาด้าน อิริยาบถที่สมดุลของพระภิกษุสงฆ์ สามเณร และฆราวาสทั่วไป


  •    7,596